ลักษณะและความสำคัญของวัฒนธรรมไทย

๒.ลักษณะและความสำคัญของวัฒนธรรมไทย

๒.๑ ลักษณะของวัฒนธรรมไทย

๑.) เคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ พสกนิกรทุกหมู่เหล่าให้ความเคารพเทิดทูน ทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน

๒.)  ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณี  เป็นสิ่งที่บรรพบุรุษยึดถือเป็นแนวปฏิบัติในรูปของความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ซึ่งเป็นที่ยอมรับและมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของคนในสังคมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

๓.) ใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติที่คนไทยสามารถพูดและเขียนอ่านได้ภาษาไทยจึงเชื่อมโยงคนในชาติให้เข้าใจวัฒนธรรมไทยได้เป็นอย่างดี

๔.) การนับถือผู้อาวุโส เป็นวัฒนธรรมที่มีการปฏิบัติมาช้านาน โดยผู้ที่มีอายุน้อยกว่าจะให้ความเคารพนับถือผู้ที่มีอายุมากกว่า แสดงความเคารพโดยการไหว้ การทักทาย เป็นต้น

๕.) เป็นวัฒนธรรมเกษตรกรรม โดยประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบทและมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ผูกพันกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม อันเป็นรากฐานแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

๖.) อาหารไทย เป็นที่รู้จักและนิยมกันทั่วโลก เพราะมีลักษณะพิเศษ   คือ   มีรสชาติจัดและมีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแกงและต้มยำที่มีสมุนไพรมากมายเป็นเครื่องปรุงซึ่งแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนไทยในการปรุงอาหารที่มีประโยชน์และคุณค่าทางอาหารครบถ้วนแสดงออกถึงคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมความประณีตในการตกแต่งอาหารอย่างสวยงาม อาหารไทยจึงเป็นวัฒนธรรมหลักอย่างหนึ่งของชาติไทย

๗.) วันสำคัญและเทศกาล วันสำคัญและเทศกาลของชาติไทยมีตลอดทั้งปี ซึ่งวันสำคัญและเทศกาลที่ถือว่าเป็นวัฒนธรรมหลักของชาติ มีดังนี้

๗.๑)วันสำคัญที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น วันจักรี วันปิยมหาราช วันฉัตรมงคล ฯ

๗.๒) วันที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาซึ่งประชาชนจะร่วมปฏิบัติบูชา เช่น วันวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันเข้าพรรษา วันอาสาฬหบูชา วันออกพรรษา วันธรรมสวนะ(วันพระ) เป็นต้น


๗.๓) วันนักขัตฤกษ์และประเพณีที่แสดงถึงความรัก ความเคารพ และความผูกพันของคนในชาติ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสารทไทย วันสงกรานต์ วันลอยกระทง  วันครู วันเด็กแห่งชาติ

  ๒.ความสำคัญของวัฒนธรรมไทย

ความสำคัญของวัฒนธรรมไทยอาจสรุปได้ดังนี้


  ๑) วัฒนธรรมเป็นเครื่องสร้างระเบียบแก่สังคมมนุษย์ วัฒนธรรมไทยเป็นเครื่องกำหนดพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมไทยให้มีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจนรวมถึงผลของการแสดงพฤติกรรมตลอดจนถึงการสร้างแบบแผนของความคิด ความเชื่อ และค่านิยมของสมาชิกให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน



   ๒) วัฒนธรรมทำให้เกิดความสามัคคีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สังคมที่มีวัฒนธรรมเดียวกันย่อมจะมีความรู้สึกผูกพันเดียวกัน เกิดความเป็นปึกแผ่น จงรักภักดีและอุทิศตนให้กับสังคมทำให้สังคมอยู่รอด

   ๓) วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดรูปแบบของสถาบัน เช่น รูปแบบของครอบครัวจะเห็นได้ว่าลักษณะของครอบครัวแต่ละสังคมต่างกันไป ทั้งนี้เนื่องจากวัฒนธรรมในสังคมเป็นตัวกำหนดรูปแบบ เช่น วัฒนธรรมไทยกำหนดเป็นแบบสามีภรรยาเดียว ในอีกสังคมหนึ่งกำหนดว่าชายอาจมีภรรยาได้หลายคน หรือหญิงอาจมีสามีได้หลายคน ความสัมพันธ์ทางเพศก่อนแต่งงานเป็นสิ่งที่ดีหรือเป็นเรื่องขัดต่อศีลธรรม


   ๔) วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือช่วยแก้ปัญหา และสนองความต้องการของมนุษย์ มนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตภายใต้สิ่งแวดล้อมได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นมนุษย์ต้องแสวงหาความรู้จากประสบการณ์ที่ตนได้รับการประดิษฐ์คิดค้นวิธีการใช้ทรัพยากรนั้นให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตและถ่ายทอดจากสมาชิกรุ่นหนึ่งไปสู่สมาชิกรุ่นต่อไปได้โดยวัฒนธรรมของสังคม
 ๕) วัฒนธรรมช่วยให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า หากสังคมใดมีวัฒนธรรมที่ดีงามเหมาะสม เช่น ความมีระเบียบวินัย ขยัน ประหยัด อดทน การเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว เป็นต้น สังคมนั้นย่อมจะเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว




   ๖) วัฒนธรรมเป็นเครื่องแสดงเอกลักษณ์ของชาติ คำว่า เอกลักษณ์ หมายถึง ลักษณะพิเศษหรือลักษณะเด่นของบุคคลหรือสังคม ที่แสดงว่าสังคมหนึ่งแตกต่างไปจากอีกสังคมหนึ่ง เช่น วัฒนธรรมการพบปะกันในสังคมไทย จะมีการยกมือไหว้กันแต่ในสังคมญี่ปุ่นใช้การคำนับกัน เป็นต้น




     











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผลงาน

ผลงานบทเรียนออนไลน์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ห้อง 1 เรื่อง อะตอมและตารางธาตุพื้นฐาน เรื่...